ไทยจับมือจีน เริ่มทดลองใช้ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ดวงแรกแล้วตอนนี้!
เตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค (Tokamak) หรือ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” รุ่นทดลองตัวแรกของไทย เปิดทำงานอย่างเป็นทางการภายใต้ความร่วมมือกับจีน เมื่อวันอังคาร (25 ก.ค.) ที่ผ่านมา จะทำอะไรได้บ้าง มีความสำคัญยังไงไปดูกันเลย
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) นำทีมโดย ดร.นพพร พูลยรัตน์ หัวหน้าฝ่ายนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา กำลังทำการวิจัยและการทดลองเกี่ยวกับพลังงานฟิวชันร่วมกับเจ้าหน้าที่จีนในนครเหอเฝย (Hefei) เมืองเอกของมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน ในโครงการความร่วมมือ "ไทยแลนด์ โทคาแมค-1" (Thailand Tokamak-1) หรือ ทีที-1 (TT-1)
โครงการ TT-1 คือการทดลองเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค (Tokamak) หรือ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” เป็นเครื่องจักรทดลองที่สามารถสร้างและปล่อยพลาสมาอุณหภูมิสูงพิเศษเพื่อจำลองสภาวะที่จำเป็นสำหรับปฏิกิริยาฟิวชันได้
ดร.นพพร พูลยรัตน์ ระบุว่า ทีมเจ้าหน้าที่ไทยเดินทางมายังจีนเพื่อศึกษาวิธีการใช้เตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค ซึ่งไทยได้รับบริจาคโดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในการรับมอบเมื่อปี 2018 โดยเครื่องโทคาแมคนี้จะถูกแยกชิ้นส่วนและขนส่งสู่ไทยต่อไป
ทั้งนี้ เป้าหมายปัจจุบันของ กฟผ. คือการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจพื้นฐานและวิธีการประกอบ ใช้งาน และบำรุงรักษาเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค

พ.ค. 2021 คณะนักวิทยาศาสตร์จีนสร้างสถิติโลกครั้งใหม่ในการปล่อยประจุพลาสมา ณ อุณหภูมิ 120 ล้านองศาเซลเซียส เป็นเวลา 101 วินาที ระหว่างการทดลองที่สถาบันฟิสิกส์พลาสมา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Institute of Plasma Physics Chinese Academy Of Scieneces: ASIPP) ในนครเหอเฝย ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านการวิจัยพลังงานฟิวชัน
รายงานระบุว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทย จำนวน 8 คน จาก สทน. และ กฟผ. ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จีนอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมคเครื่องแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทีมของไทยเริ่มดำเนินการเตาปฏิกรณ์ TT-1 ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่จีน หลังจากผ่านการอบรมนานสามสัปดาห์ ซึ่งทีมจากไทยสามารถดำเนินการเครื่องดังกล่าวได้เองหลังฝึกอบรมเป็นเวลาสองเดือน
เฉิน หยู่ (Chen Yue) วิศวกรอาวุโสด้านเทคโนโลยีสุญญากาศของสถาบันฟิสิกส์พลาสมา ได้ทำงานร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ไทยตั้งแต่พวกเขามาถึงช่วงปลายเดือน มิ.ย. โดยประเทศจีนจำเป็นต้องตรวจสอบเครื่องมือและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน ก่อนส่งมอบเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมคให้ฝ่ายไทย
ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของโครงการ TT-1 คือการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเหมือนดวงอาทิตย์ โดยใช้ดิวเทอเรียม (Deuterium) ซึ่งเป็นธาตุไฮโดรเจนชนิดหนักและมีอยู่มากมายในทะเลมาผลิตพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ โดยคาดว่าพลังงานที่ผลิตจากดิวเทอเรียมในน้ำทะเล 1 ลิตร ผ่านปฏิกิริยาฟิวชัน จะเทียบเท่ากับน้ำมันเบนซิน 300 ลิตร
นายมตินนท์ ชี้ว่า พลังงานสะอาดรูปแบบใหม่จะเป็นแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพและราคาเอื้อมถึงสำหรับไทยและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
ขณะเดียวกัน ดร.นพพร เสริมว่า สนท. หวังมอบแพลตฟอร์มให้นักวิจัยในไทยเพื่อทำการทดลองที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาฟิวชัน และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ทำงานด้านการวิจัยพลังงานฟิวชันไม่มากนัก ทว่าเตาปฏิกรณ์ TT-1 จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวเข้าร่วมการวิจัยแวดวงนี้มากขึ้น

จนเมื่อวันอังคาร (25 ก.ค.) ที่ผ่านมา เตาปฏิกรณ์ฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันฟิสิกส์พลาสมา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (ASIPP) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติของไทย ได้ถูกขนส่งถึงไทยเมื่อเดือนมกราคม และเริ่มต้นทดลองเดินเครื่องเมื่อเดือนพฤษภาคม
ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีฯ เน้นย้ำว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านการประยุกต์ใช้นิวเคลียร์ฟิวชันของไทย มีผลต่อการวิจัยทางวิชาการ เทคโนโลยีวิศวกรรม และการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ
ด้าน ซ่งอวิ๋นเทา ผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลาสมาฯ เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่าการวิจัยด้านการประยุกต์ใช้นิวเคลียร์ฟิวชันของจีนยึดมั่นแนวทางเปิดกว้างและเป็นมิตร
ขอบคุณที่มาจาก https://www.springnews.co.th/digital-tech/841524